Spinelli, Altiero (1907-1986)

นายอัลตีเอโร สปีเนลลี (พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๒๙)

 อัลตีเอโร สปีเนลลีเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองและนักยุโรปนิยม (Europeanist) ที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลีซึ่งมุ่งมั่นทำงานเพื่อการรวมยุโรปตามแนวทางของระบบสหพันธ์นิยมเกือบตลอดชีวิต จนได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สปีเนลลีเป็นหัวหน้าขบวนการต่อต้านนาซี (Resistance Movement) ในอิตาลีและเป็นผู้เขียนปฏิญญาเวนโตเตเน (Ventotene Manifesto)* ซึ่งเป็นข้อเสนอให้ประเทศต่าง ๆ จัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรป (United States of Europe) หรือสหพันธรัฐยุโรป (European Federation) ขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง โดยเขียนร่วมกับนักยุโรปนิยมคนอื่น ๆ อีก ๒-๓ คน ต่อมา เขายังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* และสหภาพยุโรปจนสิ้นชีวิตรวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ (Commissioner) ในคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในช่วงแรกของอีชีถึง ๖ ปีและเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) อีก ๑๐ ปี แนวคิดของสปีเนลลีมีอิทธิพลอย่างมากต่อการบูรณาการยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

 สปีเนลลีเกิดที่กรุงโรม เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาเข้ารับการศึกษาที่กรุงโรมมาโดยตลอดและฝักใฝ่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างลึกซึ้งมาแต่รุ่นหนุ่ม ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ขณะมีอายุเพียง ๑๗ ปี สปีเนลลีได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี (Italian Communist Party-PCI) หลังสำเร็จการศึกษาแล้วเขาก็ออกมาประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ เนื่องจากเป็นคนหัวรุนแรงและไม่เห็นด้วยกับวิธีการปกครองในลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ของเบนีโต อามิสกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี (Benito Amilcare Andrea Mussolini)* หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ (National Fascist Party-NFP) ซึ่งกำลังมีอำนาจในขณะนั้น เขาจึงเขียนบทความโจมตีมุสโสลีนีและลัทธิฟาสซิสต์อย่างรุนแรงอยู่เสมอ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ สปีเนลลีก็ถูกจับกุมและถูกคุมขังในคุกเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี หลังจากนั้น เขายังถูกกักบริเวณต่ออีก ๖ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ขณะที่ยังรับโทษเขาลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์เพราะไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหภาพโซเวียตในช่วงนั้น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ สปีเนลลีถูกส่งตัวไปกักบริเวณที่เกาะเวนโตเตเน (Ventotene) ในอ่าวกาเอตา (Gulf of Gaeta) พร้อมกับนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ ที่ต่อต้านมุสโสลีนีอีกราว ๘๐๐ คน

 ระหว่างที่ถูกกักบริเวณอยู่ที่เกาะเวนโตเตเน สปีเนลลีศึกษางานเขียนของนักสหพันธ์นิยมชาวอังกฤษและนักคิดชาวอเมริกันหลายคน โดยเฉพาะงานเขียนของลอร์ดฟิลิปป์ เฮนรี คาร์ โลเทียน (Philipp Henry Kerr Lothian) ชาวอังกฤษและเจมส์ แมดิสัน (James Madison) ประธานาธิบดีคนที่ ๔ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นงานเขียนที่ทรงอิทธิพลที่ทำให้เขาเกิดความนิยมในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามแนวทางของระบบสหพันธ์ดังเช่นสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากจนทำให้เขากลายเป็นนักสหพันธ์นิยมที่แข็งแกร่งผู้หนึ่งตั้งแต่บัดนั้นนอกจากนี้ สปีเนลลียังได้พบกับแอร์เนสโต รอสซี (Ernesto Rossi)* เป็นครั้งแรก รอสซีเป็นนักการเมืองหัวรุนแรงซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๐ เนื่องจากเขาเป็นหัวหน้ากลุ่มจูสตีเซียเอลีแบร์ตา (Giustizia e’ Libertà) อันโด่งดังซึ่งต่อต้านระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลีนี ต่อมาไม่นานคนทั้งสองก็ได้กลายเป็นมิตรสนิทที่ร่วมมือกันต่อสู้เพื่อการรวมยุโรปตามแนวทางสหพันธ์นิยมมาโดยตลอดจนแม้เมื่อสิ้นสงครามโลกแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ สปีเนลลีและรอสซีได้รวบรวมนักโทษการเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีอุดมการณ์เดียวกันจัดตั้งขบวนการต่อต้านนาซีและมุสโสลีนีขึ้นที่เกาะเวนโตเตเนโดยทำงานใต้ดินเพื่อให้การสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรในการทำให้มหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* แพ้สงครามโดยเร็ว ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มคิดถึงอนาคตของยุโรปภายหลังสงคราม สปีเนลลีรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากกับการปกครองในระบอบสังคมนิยมและอุดมการณ์ชาตินิยมในลักษณะขวาจัดสุดขั้วอย่างเช่นอุดมการณ์ฟาสซิสต์ของมุสโสลีนีและนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* แห่งเยอรมนี เขาเห็นว่าทางเดียวที่จะทำให้ยุโรปอยู่รอดได้คือการจัดการปกครองในระบบสหพันธ์โดยให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวมตัวเป็นหน่วยการเมืองเดียวกันและร่วมมือกันปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตยยุโรปจึงจะสามารถกลับมาเข้มแข็งตามเดิมได้อีกครั้ง

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ สปีเนลลีกับรอสซีและเออูเจนีโอ โกลอร์นี (Eugenio Colorni) รวมทั้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก ๑ หรือ ๒ คนได้ร่วมมือกันเขียนปฏิญญาเวนโตเตเน ซึ่งเป็นเอกสารสนับสนุนความเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เนื่องจากต้องทำเป็นความลับและไม่มีวัสดุการเขียนรอสซีจึงเขียนข้อความซึ่งเป็นร่างสุดท้ายของปฏิญญาลงในกระดาษด้านในของซองบุหรี่และซ่อนเอกสารนี่ไว้ในก้นกล่องสังกะสีใบเล็ก ๆ ที่สับเปลี่ยนด้านบนเป็นด้านล่างและทำฝาหลอกปิดไว้อย่างแน่นหนาเพื่อลวงผู้ที่อาจค้นพบ รอสซีฝากกล่องนี้ออกไปจากเกาะเวนโตเตเนกับภรรยาของเขาเมื่อเธอเดินทางมาเยี่ยม ต่อจากนั้นเธอก็ได้จัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวบนแผ่นดินใหญ่อย่างลับ ๆ และส่งไปให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของรอสซีและสปีเนลลีในกลุ่มต่อต้านนาซีที่กระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของยุโรปได้รับทราบ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๒ สปีเนลลียังเขียนบทความทางการเมืองเพื่อขยายความในปฏิญญาเวนโตเตเนอีก ๒ เรื่อง คือ Gli stati Unitid’Europa e le varie tendenze politiche (The United States of Europe and the various political trends) และ Politico marxista e politico federalista (Marxist policy and federalist policy)

 ข้อความในปฏิญญาเวนโตเตเนเป็นข้อเสนอเพื่อจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปหรือสหพันธรัฐยุโรปที่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการผูกพันหรือบูรณาการประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเข้าด้วยกันเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยุติการทำสงครามระหว่างกัน และเสนอว่าในการบูรณาการนั้นจำเป็นต้องมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยขึ้นเป็นอันดับแรก เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญสำหรับสหรัฐแห่งยุโรปตามแบบสหรัฐอเมริกา วิธีการดังกล่าวจะเป็นการคํ้าประกันว่าสหรัฐแห่งยุโรปที่จัดตั้งขึ้นนี้มีรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมและมีความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของบรรดาชาติสมาชิก ปฏิญญาเวนโตเตเนยังต่อต้านการใช้สงครามและความรุนแรงต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการรวมยุโรป ดังเช่นวิธีการของฮิตเลอร์รวมทั้งวิธีการของนักสหพันธ์นิยมบางคนที่เสนอให้รวมยุโรปโดยใช้วิธีการรุนแรง ในหลักการสปีเนลลีไม่ยอมรับการรวมยุโรปโดยวิธีผิดกฎหมายและการใช้ความรุนแรงจากระดับล่างเนื่องจากเขาเห็นว่าการต่อสู้ของนักสหพันธ์นิยมเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยของยุโรปตะวันตก การรวมยุโรปจึงควรเกิดขึ้นจากความสมัครใจโดยเสรีของรัฐบาลประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ เท่านั้น หลักการดังกล่าวถูกวิจารณ์จากนักสหพันธ์นิยมบางคนที่เป็นนักการเมืองในกลุ่มซ้ายว่าเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ลัทธิชาตินิยมที่ก่อให้เกิดสงครามทำลายล้างระหว่างกัน อุดมการณ์ที่สนับสนุนการรวมยุโรปจึงเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากลัทธิชาตินิยมที่รุนแรงและก่อให้เกิดความเป็นอริต่อกัน อย่างไรก็ดี ปฏิญญาฉบับนี้ก็เป็นที่ยอมรับของบรรดานักต่อต้านนาซีจำนวนมาก และในเวลาต่อมายังมีการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ อีกหลายภาษาทำให้ปฏิญญาเวนโตเตเนเป็นเอกสารใต้ดินที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในหมู่ขบวนการต่อต้านนาซีกลุ่มต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีป

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ หลังมุสโสลีนีหมดอำนาจลง สปีเนลลีและรอสซีรวมทั้งนักโทษการเมืองอื่น ๆ ก็ถูกปล่อยตัวจากเกาะเวนโตเตเน เขารีบเดินทางกลับแผ่นดินใหญ่โดยทันทีเพื่ออุทิศตนให้กับการทำงานทางการเมืองอย่างเต็มที่ และเนื่องจากตระหนักว่าการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องมีองค์การในรูปแบบใหม่ที่ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและจริงจัง ในปลายเดือนสิงหาคมปีเดียวกันสปีเนลลีจึงได้จัดตั้งขบวนการสหพันธรัฐยุโรปหรือเอ็มเอฟอี (Movimento Federalista Europeo-MFE) ขึ้นที่บ้านของมารีโอ อัลแบร์โต รอลลีเยร์ (Mario Alberto Rollier) ในเมืองมิลานโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานเพื่อการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปขึ้นหลังสงครามในขณะเดียวกันก็ให้เอ็มเอฟอีดำเนินงานรณรงค์เพื่อต่อต้านนาซีและลัทธิฟาสซิสต์ไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากสงครามยังคงดำเนินอยู่อย่างรุนแรง สปีเนลลีได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของขบวนการดังกล่าวและได้รับเลือกต่อมาอีก หลายครั้ง เขาร่วมมือกับรอสซีจัดสายการดำเนินงานและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหมู่นักต่อต้านนาซีอย่างเป็นระบบโดยใช้ปฏิญญาเวนโตเตเนเป็นหลักและมีการจัดทำเอกสารใต้ดินเพื่อเผยแพร่แนวคิด ข่าวสาร และการดำเนินงานของเอ็มเอฟอีอีกหลายฉบับ

 สปีเนลลียังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมยุโรปไว้ว่าจะต้องเกิดขึ้นโดยยึดหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ ประการแรก การดำเนินงานขององค์การที่มีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มผู้สนับสนุนสหพันธรัฐยุโรปเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางการเมืองหรือพื้นฐานทางสังคมของคนเหล่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของการรวมยุโรป เพราะพรรคการเมืองมักแสวงหาอิทธิพลจากรัฐบาลของชาติตนเพื่อทำให้การรวมยุโรปประสบความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้องค์การเหนือรัฐ (supranational organization) ที่จะจัดตั้งขึ้นจากการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลนั้น ๆ อ่อนแอลง เพราะการจัดตั้งองค์การเหนือรัฐขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลต่าง ๆ เท่ากับเป็นการแข่งขันกับรัฐบาลเหล่านั้นด้วย ประการที่ ๒ ให้มีการจัดตั้งองค์การเหนือรัฐขึ้นมาบังคับบัญชาสหภาพที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในระดับยุโรป และประการที่ ๓ ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจอันดีในหมู่ประชาชนเพื่อช่วยทำให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรป ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นหลักการสำคัญซึ่งในภายหลังแม้เมื่อสปีเนลลีไม่ได้เป็นหัวหน้าขบวนการเอ็มเอฟอีแล้วเขาก็ยังคงยึดถือต่อมาตลอดชีวิต

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ สปีเนลลีกับรอสซีได้เดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ของขบวนการต่อต้านนาซีซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวยุโรปที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในฐานะผู้แทนของขบวนการเอ็มเอฟอีเพื่อเผยแพร่แนวความคิดของการจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปหรือสหพันธรัฐยุโรปซึ่งเขามักเรียกชื่อแทนกันอยู่เสมอ และเพื่อทำความรู้จักกับนักต่อต้านที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มต่อต้านจากประเทศยุโรปอื่น ๆ ด้วย เพราะทั้งสองต่างก็ตระหนักว่าการรวมยุโรปไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยปราศจากความร่วมมือของนักยุโรปนิยมกลุ่มอื่น ๆ ฉะนั้น การรวมยุโรปจึงจำเป็นต้องดำเนินงานในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ สปีเนลลียังเห็นว่ายุโรปทุกประเทศประสบปัญหาจากสงครามในลักษณะคล้ายคลึงกัน คงจะสามารถใช้ที่ประชุมนี้เป็นเวทีกลางเพื่อการหารือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้

 นอกจากสปีเนลลีจะได้เสนอปฏิญญาเวนโตเตเนต่อที่ประชุมแล้ว เขายังแจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่นครเจนีวาและเมืองอื่น ๆ ที่เขามีโอกาสเดินทางไปถึงเท่าที่จะกระทำได้สปีเนลลีได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่มขึ้นอีกหลายคนซึ่งล้วนเป็นแกนนำหรือหัวหน้าขบวนการต่อต้านนาซีในประเทศต่าง ๆ เช่น ลุยจี เอย์นาอูดี (Luigi Einaudi) และอีญาซีโอ ฃีโลเน (Ignazio Silone) ชาวอิตาลี ฮันนา แบร์โทเลท (Hanna Bertholet) ฮิลดา มอนเท (Hilda Monte) และไฮน์ริช เกออร์ก ริทเซิล (Heinrich Georg Ritzel) ชาวเยอรมัน ชอง-มารี ซูตู (Jean-Marie Soutou) และลาลัว (Laloi) ชาวฝรั่งเศส รวมทั้งสมาชิกอีกหลายคนของขบวนการสหภาพยุโรปสวิส (Swiss Europe Union) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๗ แต่ในขณะนั้นแผนจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปของสปีเนลลีก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักต่อต้านเหล่านี้มากนัก จึงถือได้ว่าความพยายามของเขาและรอสซีครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะบุคคลเหล่านี้ยังไม่เชื่อถือเขานักและยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก นอกจากนี้ การดำเนินงานยังต้องทำเป็นความลับในลักษณะงานใต้ดินอย่างเต็มความสามารถเพราะต้องหลีกเลี่ยงการจับกุมของพวกนาซีซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ อย่างไรก็ดี สปีเนลลีก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากนัก หนังสือพิมพ์สังคมนิยมชาวสวิสบางคนอย่างเช่น ฟรองซัว บงดี (François Bondy) ซึ่งทำให้เขายังคงได้รับความเชื่อถือจากนักต่อต้านหลายคน

 หลังการประชุมครั้งนี้สปีเนลลีและรอสซีได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังบรรดานักต่อต้านนาซีกลุ่มต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีปยุโรป โดยเฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางที่สำคัญ เพื่อชักชวนให้บุคคลเหล่านั้นจัดตั้งองค์การเพื่อรณรงค์ให้มีการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปขึ้นและร่วมมือกันในระดับนานาชาติ ในจดหมายที่ส่งไปถึงบรรดานักต่อสวิตเซอร์แลนด์ สปีเนลลีได้กล่าวยํ้าตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้มีพลเมืองฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และประเทศอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในส่วนนี้ของยุโรปเป็นจำนวนมากเพื่อหนีภัยจากพวกนาซีและพวกฟาสซิสต์ บุคคลเหล่านี้ ได้ติดต่อกันในการต่อสู้เพื่อสันติภาพและเสรีภาพ ฉะนั้นจึงต้องเชิญบุคคลเหล่านี้ให้มาหารือร่วมกันถึงปัญหาต่าง ๆของการสร้างยุโรปขึ้นมาใหม่และให้บุคคลเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อสร้างยุโรปด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ สปีเนลลีและรอสซีสามารถจัดประชุมนานาชาติได้ถึง ๒ ครั้งโดยใช้บ้านของดับเบิลยู. เอ. วิสเซิร์ต ฮูฟต์ (W. A. Visser’t Hooft) นักการเมืองและนักยุโรปนิยมชาวดัตช์เชื้อสายยิวที่ลี้ภัยมาอยู่ที่นครเจนีวาเป็นสถานที่ประชุม การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม มีนักต่อต้านจากเดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และยูโกสลาเวีย รวมทั้งผู้แทนกลุ่มต่อต้านนาซีชาวเยอรมันในกลุ่มของแบร์โทเลทและมอนเทเข้าร่วมประชุมด้วยหลายคน ระเบียบวาระสำคัญที่ที่ประชุมพิจารณาคือการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ในที่สุด ที่ประชุมได้ร่วมมือกันจัดทำคำประกาศเจนีวาฉบับที่ ๑ (Geneva Declaration I) เพื่อแสดงเจตจำนงของการรวมยุโรปขึ้นในอนาคตโดยได้กล่าวยํ้าไว้ในตอนท้ายของเอกสารนี้ว่า การเสียสละและอุทิศตนทั้งหมดที่บุคคลต่าง ๆ ได้กระทำและความทุกข์ทรมานทั้งปวงที่ได้รับร่วมกันได้สร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้องในบรรดาสมาชิกขบวนการต่อต้านนาซีทั้งหลาย ทั้งยังได้ก่อให้เกิดความตระหนักใหม่ในการผนึกกำลังร่วมกันของประชาชาติเสรี ในยุโรป รวมทั้งการธำรงรักษาไว้ซึ่งการคํ้าประกันสันติภาพอันถาวรด้วย

 ต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔ สปีเนลลีและรอสซีได้เสนอร่างคำประกาศเจนีวาฉบับที่ ๒ (Geneva Declaration II) ที่เขาทั้งสองเป็นผู้เขียนขึ้นต่อที่ประชุม หลังการอภิปรายแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางและมีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เอกสารดังกล่าวก็ผ่านมติที่ประชุม เอกสารฉบับนี้ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ๖ เรื่องซึ่งล้วนเป็นหลักการสำหรับการจัดตั้งสหภาพยุโรปภายหลังสงครามทั้งสิ้น เช่น เรื่องการยอมรับให้เยอรมนีเข้าร่วมในสหภาพยุโรป หลังสิ้นสุดภาระงานที่นครเจนีวาแล้ว สปีเนลลีก็เดินทางกลับอิตาลีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ และเข้าทำงานที่สำนักงานเลขาธิการของพรรคการเมืองชื่อ Partito d’Azione Alta Italia ในช่วงนี้เขามีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับแฟร์รุชชีโอ ปาร์รี (Ferruccio Parri) และเลโอ วาลีอานี (Leo Valiani) นักยุโรปนิยมที่มีชื่อเสียงของอิตาลีรวมทั้งนักการเมืองและนักต่อต้านนาซีอีกหลายคน

 หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่นอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ บทบาทของทั้งสปีเนลลีและขบวนการต่อต้านนาซีในประเทศต่าง ๆ ก็ลดลงเป็นอย่างมาก แม้ว่าความคิดของเขาที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาเวนโตเตเนและคำประกาศเจนีวาทั้ง ๒ ฉบับจะยังคงมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของขบวนการต่าง ๆ ในช่วงปลายสงครามอยู่บ้างก็ตาม เช่น โครงการความเคลื่อนไหวของนักต่อต้านนาซีชาวฝรั่งเศสในขบวนการเพื่อการปลดปล่อยชาติแห่งภูมิภาคลียง (Movement of Liberation Nationals of the Lyon Region) ที่จัดทำขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ก่อนการปลดปล่อยลียงในวันที่ ๓ กันยายน เพียงไม่กี่วันก็มีแนวคิดของสปีเนลลีปรากฏอยู่หลายตอนอย่างไรก็ดี สปีเนลลีก็ยังเดินทางไปร่วมประชุมกับขบวนการต่อต้านนาซีในประเทศต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่บ้างประปราย เช่น การประชุมใหญ่ของนักสหพันธ์นิยมชาวฝรั่งเศสที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีสในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งสปีเนลลีและอูร์ซูลา เฮียร์ชมันน์ (Ursula Hirschmann) นักต่อต้านชาวเยอรมันซึ่งต่อมาได้ร่วมชีวิตกับเขา ได้มีส่วนร่วมเตรียมการประชุมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมที่ต่อมาได้เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลายคนรวมทั้งผู้แทนจากอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และผู้ลี้ภัยจาก กรีซ ออสเตรีย และเยอรมนี โดยสปีเนลลีทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจถึงวิธีการ ขั้นตอน และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปในอนาคต

 แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปอย่างท่วมท้น และมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศเฉพาะกาล (Provisional International Committee) ขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้โดยมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับกลุ่มและบุคคลต่าง ๆ ในทุกประเทศเพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นภายในแต่ละประเทศเพื่อดำเนินการจัดตั้งสหภาพยุโรปพร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการขึ้นที่กรุงปารีสก็ตาม แต่การประชุมครั้งนี้ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใดเนื่องจากสงครามโลกในยุโรปได้ยุติลงในวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังการปลดปล่อยยุโรปการต่อสู้ทางการเมืองก็กลับคืนสู่เขตแดนของแต่ละประเทศ และแม้ว่าสมาชิกขบวนการต่อต้านนาซีหลายคนที่รอดชีวิตจากสงครามจะได้เข้าร่วมรัฐบาลในประเทศของตน แต่งานสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการบูรณะฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วนนอกจากนี้ ในทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปผู้ชนะสงครามก็มีอำนาจอย่างจำกัดมาก อีกทั้งอภิมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาก็มุ่งให้ความสนใจไปที่การจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมมากกว่าเรื่องอื่น ในขณะที่สหภาพโซเวียตเองก็ไม่สนับสนุนการรวมยุโรปของนักต่อต้านเหล่านี้เพราะขัดกับนโยบายการขยายอำนาจของตน ขบวนการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปจึงต้องยุติลงชั่วคราว

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง สปีเนลลีกลับไปประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ในอิตาลีตามเดิมและให้การสนับสนุนรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่ทอดทิ้งอุดมการณ์สหพันธ์นิยม ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เขาสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi)* รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* จนประสบความสำเร็จ ทำให้เขาได้รับการยอมรับในวงการเมืองภายในของอิตาลีมากขึ้น และในปีเดียวกันเขายังได้เป็นเลขานุการของคณะกรรมการระหว่างประเทศแห่งขบวนการเพื่อเอกภาพของยุโรป (International Committee of the Movements for European Unity) ที่นักสหพันธ์นิยมชาวยุโรปชาติต่าง ๆ ร่วมมือกันจัดตั้งขึ้นที่กรุงปารีส และได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่กรุงเฮก (The Hague Congress) ที่คณะกรรมการชุดนี้เป็นกำลังสำคัญจัดให้มีขึ้น ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๗-๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ โดยมีวัตถุประสงค์จะให้มีการจัดตั้งสถาบันยุโรปขึ้นโดยยังไม่ได้กำหนดชื่อที่แน่นอน ในครั้งนั้นสปีเนลลีได้เสนออย่างแข็งขันให้มีการจัดตั้งสหพันธรัฐยุโรปหรือที่เรียกใหม่ว่า สหภาพยุโรป ตามแนวทางของการบูรณาการโดยการจัดตั้งสหภาพการเมืองเศรษฐกิจ และการเงิน (Political, Economic and Monetary Union) ขึ้นภายในสถาบันดังกล่าว แม้จะได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนักสหพันธ์นิยมหลายคนแต่ข้อเสนอของเขาก็ไม่บรรลุผล เพราะผู้เข้าร่วมประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งมีอุปสรรคอย่างอื่นเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมด้วย การประชุมใหญ่ที่กรุงเฮกจึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ก็ได้มีการจัดตั้งสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ขึ้นแต่องค์การนี้ก็ไม่ได้เป็นองค์การบูรณาการหากแต่เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเท่านั้น

 ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ เมื่อฝรั่งเศสประกาศแผนชูมอง (Schuman Plan)* เพื่อเชิญชวนเยอรมนีตะวันตกและประเทศอื่น ๆ ที่สนใจให้ร่วมมือกันจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and steel Community-ECSO* ขึ้นสปีเนลลีและองค์การเอ็มเอฟอีก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะอีชีเอสซีเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจตามแนวทางสหพันธ์นิยมที่เขาต้องการ นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ เมื่อฝรั่งเศสเสนอให้มีการจัดตั้งกองทัพยุโรปหรือประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defense Community-EDC)* และชักชวนอิตาลีให้เข้าร่วมในองค์การนี้ สปีเนลลีและองค์การเอ็มเอฟอีไม่เพียงแต่สนับสนุนรัฐบาลของตนให้เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้นหากแต่ยังรณรงค์ให้นายกรัฐมนตรีเด กัสเปรีเสนอให้มีการจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีขี (European Political Community-EPC) ขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้องค์การดังกล่าวเป็นเสมือนรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารงาน ควบคุม และกำหนดนโยบายทางการเมืองของกองทัพยุโรป การรณรงค์ของสปีเนลลีมีความสำคัญมากเพราะในการประชุมเจรจาเพื่อจัดตั้งอีดีซีของประเทศ ทั้งหกซึ่งได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กใน ค.ศ. ๑๙๕๑ นั้นเมื่ออิตาลีเสนอให้มีการจัดตั้งอีพีซีขึ้นที่ประชุมก็ยอมรับและเห็นพ้องให้มีการกำหนดการจัดตั้งองค์การดังกล่าวที่จะมีลักษณะเป็นองค์การเหนือรัฐเช่นเดียวกับอีดีซีไว้ในมาตรา ๓๘ ของสนธิสัญญาจัดตั้งอีดีซีหรือสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๒ และมอบหมายให้สมัชชาร่วม (Common Assembly) ของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเป็นผู้ร่างสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปขึ้นอีกฉบับหนึ่ง แม้ว่าการยกร่างสนธิสัญญาดังกล่าวจะลุล่วงไปด้วยดี แต่ทั้งอีดีซีและอีพีซีก็ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐสภาฝรั่งเศสไม่ผ่านการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาจัดตั้งอีดีซีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ทำให้สปีเนลลีและสมาชิกองค์การเอ็มเอฟอีต่างก็ผิดหวังและไม่พอใจฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก

 อย่างไรก็ดี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๖๐ สปีเนลลี และองค์การเอ็มเอฟซีก็ยังคงรณรงค์เพื่อการรวมยุโรปตามแนวทางสหพันธ์นิยมต่อมาอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมกันนั้นก็ให้การสนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรปที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community-EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community-EURATOM)* ของภาคีสมาชิกทั้ง ๖ ประเทศของอีซีเอสซีหรือการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรป (Action Committee for the United States of Europe) ของชอง มอนเน (Jean Monnet)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ก็ตาม แต่ในทศวรรษ ๑๙๖๐ สปีเนลลีก็ถอนตัวออกจากองค์การเอ็มเอฟอีอย่างสิ้นเชิง และหันมาดำเนินงานทางการเมืองในฐานะนักการเมืองอิสระโดยได้จัดตั้งสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศ (Institute for International Affairs) ขึ้นที่กรุงโรมใน ค.ศ. ๑๙๖๖

 สปีเนลลีได้เข้าทำงานในประชาคมยุโรปเป็นครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เมื่อรัฐบาลอิตาลีแต่งตั้งเขาเป็นผู้แทนประเทศประจำในคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานที่สำคัญที่สุดของอีซี เขาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการที่รับผิดชอบงานในด้านนโยบายอุตสาหกรรมอยู่จนถึง ค.ศ. ๑๙๗๖ ก็ลาออกเพราะต้องการอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอิตาลี ในปีเดียวกันสปีเนลลีก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนอิตาลีในรัฐสภายุโรปด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๙ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรกสปีเนลลีได้รับเลือกตั้งจากประชาชนชาวอิตาลีในฐานะผู้แทนอิสระจากพรรคฝ่ายซ้าย เขาเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๖

 สปีเนลลีได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปที่สนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรปมากที่สุดผู้หนึ่ง ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เขาได้ร่วมมือกับสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ๆ อีกหลายคนจัดตั้งสโมสรคร็อกเคอไดล์ (Crocodile Club) ขึ้นที่ภัตตาคารกรอกอดิล (Restaurante Crocodile) ในเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส เพื่อใช้เป็นสถานที่พบปะและประชุมหารือเกี่ยวกับการทำงานในด้านการรวมยุโรปร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ ณ ที่นั้น สปีเนลลีและเพื่อนสมาชิกรัฐสภายุโรปได้ยกร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรปหรือดีทีอียู (Draft Treaty on European Union-DTEU) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ร่างสปีเนลลี” (Spinelli Draft) ขึ้นเพื่อเสนอต่อรัฐสภายุโรปในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๔ ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการจัดตั้งสหภาพยุโรป อันเป็นจุดหมายปลายทางของการบูรณาการขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะของสหภาพเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมทั้งให้มีการปฏิรูปกลไกของประชาคมยุโรปให้เป็นไปตามแนวทางของระบบสหพันธ์มากยิ่งขึ้น แม้ว่าร่างสนธิสัญญาดังกล่าวจะผ่านมติรับรองจากที่ประชุมรัฐสภายุโรปด้วยเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นก็ตาม แต่ก็ถูกประท้วงจากรัฐบาลชาติสมาชิกต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการให้รัฐสภายุโรปมีอำนาจมากเกินไปและยังไม่ต้องการให้มีการบูรณาการทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปจึงไม่ได้มีการนำไปใช้ อย่างไรก็ดี ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ก็นับว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อกฎหมายยุโรปตลาดเดียวหรือเอสอีเอ (Single European Act-SEA)* และสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* เป็นอย่างมาก เพราะสนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับ ได้บรรจุสาระสำคัญที่มีอยู่ในร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรปของสปีเนลลีไว้หลายประการ

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อมีการยกร่างกฎหมายยุโรปตลาดเดียว สปีเนลลีก็อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนการจัดทำกฎหมายดังกล่าวอย่างแข็งขัน และมีส่วนผลักดันให้รัฐสภายุโรปให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้จนสนธิสัญญาได้รับการลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๖ นับเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเขาในกระบวนการรวมยุโรป

 อัลตีเอโร สปีเนลลีถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๖ ณ กรุงโรม ขณะอายุ ๗๙ ปี เขาได้รับการยกย่องทั้งจากรัฐบาลอิตาลีและสหภาพยุโรป ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ สหภาพยุโรปได้ตั้งชื่ออาคารหลังหนึ่งของรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ว่า “อาคารอัลดีเอโร สปีเนลลี” (Altiero Spinelli Building) ซึ่งมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า เอเอสพี (ASP) เพื่อเป็นเกียรติแก่สปีเนลลีซึ่งทำงานหนักในการต่อสู้เพื่อการรวมยุโรปมาตลอดชีวิตของเขา นอกจากนี้ ความพยายามในการจัดทำรัฐธรรมนูญยุโรป (Constitution for Europe) ของสหภาพยุโรปในช่วงทศวรรษ ๒๐๐๐ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็เกิดจากอิทธิพลส่วนหนึ่งของแนวความคิดของสปีเนลลีและนอกเหนือจากปฏิญญาเวนโตเตเนและร่างสปีเนลลีรวมทั้งบทความทางการเมืองอื่น ๆ แล้วหนังสืออัตชีวประวัติในภาษาอิตาลีชื่อ Come ho tentato di diventare saggio - La goccia e la rood หรือ How I Tried to Become Wise - The Drop and the Rock (ค.ศ. ๑๙๘๘) ในภาษาอังกฤษยังถือเป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของอัลตีเอโร สปีเนลลี.



คำตั้ง
Spinelli, Altiero
คำเทียบ
นายอัลตีเอโร สปีเนลลี
คำสำคัญ
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- กระบวนการบูรณาการยุโรป
- กลุ่มจูสตีเซียเอลีแบร์ตา
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- โกลอร์นี, เออูเจนีโอ
- ขบวนการต่อต้านนาซี
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- คำประกาศเจนีวาฉบับที่ ๑
- คำประกาศเจนีวาฉบับที่ ๒
- เชโกสโลวะเกีย
- ซูตู, ชอง-มารี
- นักยุโรปนิยม
- บงดี, ฟรองซัว
- แบร์โทเลท, ฮันนา
- ปฏิญญาเวนโตเตเน
- ปาร์รี, แฟร์รุชชีโอ
- แผนชูมอง
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี
- พรรคฟาสซิสต์
- พรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ
- มหาอำนาจอักษะ
- มอนเท, ฮิลดา
- มอนเน, ชอง
- ยูโกสลาเวีย
- เยอรมนีตะวันตก
- รอลลีเยร์, มารีโอ อัลแบร์โต
- รอสซี, แอร์เนสโต
- รัฐธรรมนูญยุโรป
- รัฐสภายุโรป
- ร่างสปีเนลลี
- ลัทธิชาตินิยม
- ลัทธิฟาสซิสต์
- โลเทียน, ลอร์ดฟิลิปป์ เฮนรี คาร์
- วันดี-เดย์
- วาลีอานี, เลโอ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สปีเนลลี, อัลตีเอโร
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สภาแห่งยุโรป
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหประชาชาติ
- สหพันธรัฐยุโรป
- สหภาพยุโรป
- สหรัฐแห่งยุโรป
- เอย์นาอูดี, ลุยจี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1907-1986
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๕๒๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-